เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย กับอุปกรณ์ตรวจจับควัน หรือ Smoke Detector

เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย กับอุปกรณ์ตรวจจับควัน หรือ Smoke Detector

           หนึ่งในอุปกรณ์ช่วยเตือนเรื่องความปลอดภัยให้กับ smart home ที่พักอาศัย หรือสถานที่ต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ อุปกรณ์ตรวจจับควัน หรือ Smoke Detector อุปกรณ์ชิ้นนี้จะทำหน้าที่ส่งสัญญาณ อาจเป็นสัญญาณไฟหรือเสียงก็ได้ เพื่อเตือนภัยเมื่อมีควันเกิดขึ้น ทำให้หลีกเลี่ยงไฟไหม้ หรือเหตุการณ์ร้ายแรงอื่น ๆ ได้ 

            ผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมอาจคุ้นเคยกับ Smoke Detector มากกว่าใคร เพราะภายในห้องพักอาศัยจะมีอุปกรณ์นี้ติดตั้งอยู่บนฝ้าเพดาน มีลักษณะเป็นชิ้นพลาสติกรูปร่างกลมแบน อาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงานที่มีขนาดพื้นที่ทั้งหมดเกินว่า 2,000 ตร.ม. หรืออาคารที่มีความสูงเกิน 23 เมตร จะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ  ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยทั้งระบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คืออุปกรณ์ตรวจจับควันนั่นเอง ส่วนสถานที่อื่น ๆ การติดตั้งเป็นทางเลือกที่ทำให้มั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น แต่ไม่ได้มีกฎหมายบังคับ

            มีหลายคนสงสัยว่าเครื่องตรวจจับควันกับเครื่องตรวจจับความร้อน เหมือนกันหรือไม่ ก็ต้องขอตอบว่าไม่เหมือนกัน เครื่องตรวจจับควันมีวิธีการทำงานในการเตือนเมื่อมีควันลอยเข้าไปในตัวเครื่องก็จะส่งสัญญาณเตือนออกมา ในขณะที่เครื่องตรวจจับความร้อนมีวิธีการทำงานด้วยการส่งสัญญาณเตือนเมื่อดักจับความร้อน ดังนั้นทั้งสองอุปกรณ์นี้จึงเป็นเครื่องเตือนเรื่องความปลอดภัยที่ต่างกัน สถานที่สำหรับติดตั้ง Smoke Detector หรือ Heat Detector ก็ต้องพิจารณาให้เหมาะสม อย่าง Smoke Detector ควรติดตั้งที่พื้นที่ปกติที่ไม่ค่อยเกิดควัน อย่างห้องครัวไม่ควรติดอุปกรณ์จับควัน เพราะไม่เช่นนั้นเครื่องก็ส่งสัญญาณเตือนได้ตลอดเวลา 

เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย กับอุปกรณ์ตรวจจับควัน หรือ Smoke Detector

            ยังมีหลายคนที่สงสัยอีกว่าหาก Smoke Detector ตรวจจับควันและส่งสัญญาณแล้วนั้น เครื่อง Sprinkle จะทำงานทันทีหรือไม่ ข้อนี้ต้องตอบว่า ไม่ เพราะเครื่อง Sprinkle จะถูกออกแบบมาให้ใช้งานกับเครื่องดักจับความร้อนมากกว่า 

           มีคำถามว่า ติดตั้งเครื่องจับความร้อนไปเลย ทำงานคู่กับ sprinkle แล้วไม่ต้องติดตั้ง smoke detector ก็น่าจะเพียงพอ คำตอบสำหรับคำถามนี้ต้องย้อนกลับไปดูข่าวอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ เมื่อตรวจสอบสถานที่หลังเกิดเหตุพบว่า ระบบเครื่องจับความร้อนยังทำงานได้ปกติก็จริง แต่ต้องอาศัยความร้อนที่อุณหภูมิค่อนข้างสูง คือ 65 องศาเซลเซียส ทำให้ไม่ตรวจจับในที่เกิดเหตุที่ตอนแรกมีเพียงแค่เปลวไฟเล็กน้อยแต่มีควันไฟเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมีการติดตั้ง Smoke Detector ไว้ด้วย เครื่องจะส่งสัญญาณเตือนทำให้แก้ไขสถานการณ์หรือลดโอกาสที่จะสูญเสียได้มากกว่านี้

         สำหรับการทำงานของ Smoke Detector นั้น อุปกรณ์เมื่อตรวจจับเจอควันก็จะส่งไปเตือนที่ส่วนกลาง (หรือนิติบุคคลของคอนโด) ส่วนกลางก็จะมาหาตรงจุดนั้นว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ต่อไป กรณีที่มีการเตือนเข้าไปที่ส่วนกลางแล้ว แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ ไม่ได้ปิดสัญญาณที่ส่วนกลาง ก็จะมีการส่งสัญญาณเตือนจากตัวอุปกรณ์อื่น ๆ 

         ข้อดีของ Smoke Detector ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ราคาต่อชิ้นไม่สูง แต่งบประมาณของการติดตั้งทั้งหมดขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ต้องการให้ครอบคลุมในการติดตั้ง อุปกรณ์นี้สามารถเตือนภัยก่อนเกิดเหตุไฟไหม้ได้จริง เพราะก่อนไฟไหม้จะมีควันเกิดขึ้นก่อน เมื่อมีสัญญาณเตือนก่อนก็มีโอกาสระงับเหตุได้ทันท่วงที ดังนั้นหากจะคิดถึงความคุ้มค่าก็ต้องบอกเลยว่าคุ้มหากเทียบกับความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุที่ไม่มีสัญญาณเตือนภัยก่อน

เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย กับอุปกรณ์ตรวจจับควัน หรือ Smoke Detector

เหตุผลที่เราติดตั้งเครื่องจับควันไว้บนเพดานก็เนื่องจากควันลอยจากที่ต่ำขึ้นสู่ที่สูงเสมอ ปกติจะติดไว้บนเพดานสูงไม่เกิน 10 เมตร โดยเครื่องมี 2 แบบ คือ 

  • Photoelectric ส่งสัญญาณเตือนเมื่อความเข้มของแสงลดลง โดยเมื่อมีควัน ไอน้ำ หรือ ฝุ่นบดบังแสง เครื่องจะทำงานทันที 
  • อีกแบบคือ ionization เป็นแบบที่ไวต่อควันไฟจากการเผาไหม้เท่านั้น เพราะภายในถูกออกแบบมามีแผ่นโลหะ และสาร Radioactive ที่เมื่อทำปฏิกิริยากับควันที่เข้าไปถึงตัวเครื่อง ทำให้กระแสไฟฟ้าภายในลดลง เครื่องก็จะส่งสัญญาณเตือน โดยเครื่องนี้จะไม่ทำงานเมื่อจับควันจากหม้อหุงต้ม เครื่องนี้อาจส่งสัญญาณผิดพลาดได้ถ้ามีแมลงหรือฝุ่นเข้าไปในตัวเครื่อง

        หลายคนที่อาศัยในคอนโดมีนิติบุคคลเดินมาเตือนบ่อย ๆ เรื่องสัญญาณเตือนจับควัน เพราะมีการติดตั้งเครื่องแบบ Photoelectric ที่ส่งสัญญาณเตือนเวลาเรารีดผ้าแบบไอน้ำ ตั้งหม้อกินสุกี้  หรือหุงข้าวทำอาหาร แต่ถ้าเป็นแบบ ionization จะไม่มีการเตือนบ่อย ยกเว้นว่าจับเจอกับควันจากการเผาไหม้เท่านั้น วิธีแก้ไขไม่ให้เครื่องส่งสัญญาณบ่อย ๆ ก็คือ ให้ติดพัดลมระบายอากาศเวลาทำอาหาร เปิดหน้าต่างให้มีลมถ่ายเท หรือใช้ถุงพลาสติกครอบอุปกรณ์ไว้ในขณะที่ประกอบอาหาร  ฯลฯ

        มีสถิติที่น่าสนใจจากสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ ที่ระบุว่า 38% ของการเสียชีวิตและทรัพย์สินจากสาเหตุไฟไหม้อาคารนั้นเป็นกรณีที่ไม่มีการติดตั้ง Smoke Detector นั่นหมายความว่าหากมีการติดตั้งก็จะลดโอกาสการเกิดเพลิงไหม้ไปได้อีกมาก อีกสถิติก็คือ อาคารที่เกิดเหตุไฟไหม้ มี 21% ที่แม้ว่าจะมีการติดตั้ง Smoke Detector แต่ถึงเวลาแล้วอุปกรณ์ไม่ทำงาน สถิตินี้เป็นตัวบอกเลยว่าการติดตั้งเครื่องจับควันนั้นมีความสำคัญมากเพียงใด และที่สำคัญกว่านั้นก็คือต้องติดตั้งอุปกรณ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อให้ใช้งานได้จริงเวลามีเหตุ

ประเภทของเครื่องจับควัน หรือ Smoke Detector

  1. แบบปกติ vs แบบไร้สาย แบบปกติคือการติดตั้งที่มีสายไฟและสายสัญญาณเชื่อมโยง ซึ่งต้องระวังบำรุงรักษาให้การเชื่อมต่อสายต่าง ๆ ไม่หลวมหรือหลุด ส่วนแบบไร้สายคือแบบที่ควบคุมการทำงานด้วย smart phone ผ่านแอปพลิเคชัน เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้หลากหลาย เหมาะกับการใช้งานของคนรุ่นใหม่ เพราะสะดวกมีการแจ้งเตือนตรงเข้ามือถือ บ้าน smart home สมัยใหม่นิยมติดตั้งอุปกรณ์แบบนี้กันมากขึ้น
  2. แบบใช้ไฟบ้าน vs แบบใช้แบตเตอรี่ ซึ่ง 2 แบบนี้มีข้อดีข้อเสียต่างกัน แบบใช้ไฟบ้านไม่ต้องกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมด ส่วนแบบใช้แบตเตอรี่ใช้งานได้ต่อเนื่องแม้ไฟดับ แต่ต้องระวังคอยตรวจสอบไม่ให้แบตหมด และสิ้นเปลืองกว่า การเลือกใช้ให้คำนึงให้เหมาะกับลักษณะการใช้งาน
เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย กับอุปกรณ์ตรวจจับควัน หรือ Smoke Detector

วิธีการเลือก ติดตั้ง และดูแลรักษา Smoke Detector ให้ปลอดภัยในการใช้งาน มีดังนี้

  • ผ่านการรับรองมาตรฐานว่าเป็นอุปกรณ์เตือนภัยที่ได้คุณภาพ
  • มีระบบแจ้งเตือนการเชื่อมต่อ และแจ้งเตือนเมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมด 
  • สามารถแยกแยะชนิดของควันได้ เพื่อส่งสัญญาณเตือนเรื่องความปลอดภัยได้จริง ๆ 
  • มีระบบตรวจก๊าซอันตรายอื่น ๆ หาก Smoke Detector มี option ในการตรวจจับก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์หรือก๊าซอันตรายอื่น ๆ เพื่อเตือนภัยได้ด้วย อันนี้ถือว่ายิ่งดี
  • มีระบบป้องกันฝุ่นและแมลง
  • มีระบบป้องกันการรบกวนของคลื่นวิทยุ

มีหลักในการติดตั้ง Smoke Detector อยู่ที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อให้เครื่องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

  • ไม่ติดตั้งที่ระดับความสูงเกินกว่า 10.5 เมตร 
  • หากติดตั้งหลายเครื่อง ให้ระยะห่างระหว่างแต่ละเครื่อง ไม่เกิน 9 เมตร
  • ติดตั้งห่างจากผนังไม่เกิน 5 เมตร และ ไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร

          การติดตั้งเครื่องจับควันไม่ใช่ว่าติดตั้งแล้วก็แล้วกัน ต้องมีการตรวจสอบว่าอุปกรณ์พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ถ้าเป็นอาศัยในคอนโดจะคุ้นเคยกับที่มีช่างนัดเพื่อขอเข้าตรวจอุปกรณ์นี้ทุกปีหรือทุก 2 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องใช้งานอยู่จริง สายไม่หลวม ตัวเครื่องไม่เสื่อม แบตเตอรี่ยังใช้งานได้ปกติ เป็นต้น

เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย กับอุปกรณ์ตรวจจับควัน หรือ Smoke Detector

มีสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยงในการติดตั้ง Smoke Detector ซึ่งก็คือ

  • ห้องครัว ห้องครัวเป็นห้องที่ใช้ประกอบอาหารซึ่งต้องมีควันจากการประกอบอาหารอยู่เป็นประจำ ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ติดตั้งเครื่องจับควันที่ห้องครัว
  • ที่จอดรถ / โรงรถ เมื่อขับรถเข้าออกโรงรถจะมีควันจากท่อไอเสียเป็นประจำ จึงควรหลีกเลี่ยงไม่ติดตั้งเครื่องจับควันที่โรงรถเช่นกัน
  • สถานที่อื่น ๆ ที่มีความชื้น มีฝุ่น หรือมีควันที่ไม่ได้เกิดเพลิงไหม้ในปริมาณมากเป็นปกติ

          เหตุเพลิงไหม้แน่นอนว่าไม่มีอยากให้เกิด และเมื่อเกิดขึ้นแล้วความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน มันมากมายเกินกว่าคำนวณมูลค่าได้ การติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อเตือนภัยเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม หรือมองว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลือง Smart Traffic & Safety เราตระหนักในเรื่องนี้ดี จึงขอนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการระบบเตือนภัยอัจฉริยะที่พร้อมตอบสนองต่อ smart home ยุคใหม่ ให้ใช้งานได้สะดวก สามารถเชื่อมต่อ แจ้งเตือนได้ทันท่วงที เพิ่มความปลอดภัยในกับทุกชีวิตในบ้านของคุณ

 

 

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น