9 จุดที่ต้องมี!! ไฟฉุกเฉิน (Emergency Light) ในอาคาร

ไฟฉุกเฉินคืออุปกรณ์ให้แสงสว่างที่ทำงานเมื่อไฟฟ้าดับเพื่อนำทางให้ผู้ที่อยู่ภายในอาคารสามารถหาทางออกมายังภายนอกอาคารได้อย่างถูกต้อง หลักการทำงานของไฟที่ใช้ในกรณีฉุกเฉินคือการเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่ ซึ่งแบตเตอรี่ที่นิยมใช้มีอยู่ 2 แบบ คือแบบที่ต้องเติมน้ำกลั่น และแบบแห้งที่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น ซึ่งเมื่อไฟฟ้าดับจะมีการดึงไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ไปใช้ให้หลอดไฟส่องสว่าง แต่หากยังมีกระแสไฟฟ้าอยู่วงจรจะแปลงกระแสไฟฟ้าให้เป็นกระแส DC แล้วส่งไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ โดยไม่มีการจ่ายกระแสไฟไปที่หลอดไฟ หลอดไฟจึงดับสนิทอยู่ นับเป็นอุปกรณ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อให้ผู้ที่พักอาศัยอยู่ภายในอาคารมีความปลอดภัยมากขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาไฟฟ้าดับในเวลากลางคืน หรือเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ก็ตาม อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งานไฟชนิดนี้ ทางร้านไทยจราจรขอแนะนำ 9 จุดที่จำเป็นต้องติดตั้งดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

1.บริเวณประตูทางออก ทางออกมักเป็นปัญหาในเวลาที่ไฟฟ้าดับตอนกลางคืนเพราะยากแก่การมองเห็น ยิ่งเมื่อเกิดเพลิงไหม้จนไฟฟ้าดับย่อมเป็นเรื่องยากที่ผู้อยู่อาศัยภายในอาคารจะหาทางออกพบ การติดตั้งไฟฉุกเฉินบริเวณทางออกจึงนับว่าเป็นการช่วยให้ผู้อยู่ในอาคารสามารถมองเห็นทางออกได้อย่างถูกต้องโดยไม่ทำให้สับสน และอพยพออกจากอาคารได้ทันท่วงที

 

2.บริเวณบันได ทางขึ้นลงนับเป็นบริเวณที่อันตรายหากตกอยู่ในสภาวะที่มองหนทางไม่เห็น เสี่ยงต่อการที่ผู้คนจะตกจากที่สูงได้ง่ายเมื่อหนทางมืดและมองไม่เห็น บริเวณบันไดจึงควรมีการติดตั้งระบบให้แสงสว่างในสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้เพื่อป้องกันเหตุร้ายดังกล่าว การติดตั้งควรพิจารณาระมัดระวังในส่วนที่เป็นมุมอับเอาไว้ด้วย

 

3.บริเวณทางเดินหนีไฟ อาคารขนาดใหญ่ หรืออาคารที่กฎหมายกำหนดให้มีทางออกหนีไฟโดยเฉพาะ จำเป็นจะต้องมีการติดตั้งแสงสว่างในกรณีฉุกเฉินเอาไว้ด้วย เพื่อให้บริเวณที่จำเป็นต้องอพยพออกจากพื้นที่สามารถทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว การอพยพออกจากอาคารไฟไหม้ยิ่งรวดเร็วเท่าใดก็ยิ่งดีเท่านั้น ระยะห่างของแสงสว่างฉุกเฉินควรเพียงพอที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่อยู่อาศัยภายในอาคารทุกคน อย่างกรณีการติดตั้งบริเวณบันไดหนีไฟควรเริ่มตั้งแต่ชั้นบนสุดลงมาจนถึงทางออกสุดท้าย

 

4.บริเวณที่มีอุปกรณ์ฉุกเฉิน การหยิบใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินชนิดต่าง ๆ อย่างถังดับเพลิง สายยาง หรือแม้แต่อุปกรณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะอาจช่วยระงับเหตุที่จะบานปลายจนเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ภายในอาคารได้ ดังนั้นการเข้าถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ยิ่งเร็วเท่าใดก็ยิ่งส่งผลดีเท่านั้น แต่หากไม่สามารถหยิบใช้ได้เนื่องจากมองไม่เห็นย่อมนำมาซึ่งผลเสียอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้นจึงควรมีการติดตั้งระบบแสงสว่างฉุกเฉินให้เพียงพอในบริเวณอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย

 

5.บริเวณพื้นที่ทำงานที่มีลักษณะอันตราย หากอาคารมีลักษณะของงานที่อันตราย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานอุปกรณ์ที่มีคม มีประกายไฟ หรือสารเคมีอันตาย ที่หากไม่มีแสงสว่างอย่างไม่ทันตั้งตัวย่อมส่งผลเสียต่อผู้ที่กำลังปฏิบัติงานดังกล่าวได้ พื้นที่ที่มีการทำงานในลักษณะดังกล่าวควรมีการติดตั้งระบบให้แสงสว่างในเวลาฉุกเฉินเอาไว้ด้วย เพื่อเป็นการให้เวลาผู้ปฏิบัติงานได้เตรียมตัวและจัดการกับสถานการณ์ที่อันตรายให้เรียบร้อยก่อนอพยพหรือจัดการกับเหตุฉุกเฉินนั้น ๆ ต่อไป

 

6.บริเวณสถานที่ปฐมพยาบาล การเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลนับว่ามีความจำเป็นต่อการรับมือในเหตุฉุกเฉินเป็นอย่างมาก ดังนั้นภายในพื้นที่ปฐมพยาบาลภายในอาคารควรมีการติดตั้งระบบแสงสว่างที่เพียงพอเอาไว้ด้วย ตำแหน่งที่ติดตั้งควรเหมาะสม ไม่มีสิ่งกีดขวางแสงสว่าง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ยังสามารถปฏิบัติงานได้แม้ว่าไฟฟ้าจะดับไปหมดแล้วก็ตาม ซึ่งรวมถึงพื้นที่จัดเก็บอุปกรณ์ปฐมพยาบาลด้วย

 

7.บริเวณพื้นที่รวมพล เพื่อการอพยพออกจากพื้นที่ประสบภัยประสบผลสำเร็จ จำเป็นจะต้องมีการกำหนดจุดรวมพลเอาไว้ ทั้งเพื่อให้ได้นับจำนวนคนว่าอพยพออกมาหมดหรือไม่ เพื่อดำเนินการแก้ไขกรณีมีผู้สูญหายหรือบาดเจ็บ ซึ่งพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นจุดรวมพลนั้นควรมีการติดตั้งไฟฉุกเฉินเอาไว้อย่างเพียงพอ เพื่อดำเนินการต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม

 

8.บริเวณพื้นที่อับที่ไม่สามารถมองเห็นทางออกได้ชัดเจน ห้องบางห้องภายในอาคารนั้นก็ไม่ได้อยู่ติดกับทางเดิน หรือทางออกโดยตรง ทำให้ยากต่อการค้นหาทางหนีในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินได้ทันท่วงที ไฟฉุกเฉินจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จำเป็นและต้องถูกติดตั้งเอาไว้ตามพื้นที่เหล่านี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานไม่ตระหนกเวลาเกิดเหตุกระแสไฟฟ้าหลักดับ

 

9.บริเวณห้องน้ำ ห้องน้ำคือสถานที่ที่สามารถเกิดอันตรายได้ง่ายหากเกิดปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง หรือเกิดเหตุเพลิงไหม้ทั้งจากพื้นที่เปียกทำให้ลื่นล้มได้ง่าย หรือข้าวของต่าง ๆ ที่วางกีดขวางทางเดินเอาไว้เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด ดังนั้นภายในห้องน้ำจึงควรติดตั้งระบบแสงสว่างฉุกเฉินเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะห้องน้ำสำหรับผู้พิการ

ตำแหน่งทั้ง 9 ที่กล่าวมานี้คือจุดสำคัญที่ร้านไทยจราจรแนะนำว่าควรมีการติดตั้งไฟฉุกเฉินเอาไว้ให้เพียงพอ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ที่อยู่ภายในอาคารทุกคน แต่ก็ต้องติดตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสม ความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 2 เมตร ไม่มีสิ่งใดกีดขวางแสงสว่าง แสงสว่างต้องมียาวนานไม่น้อยกว่า 90 – 120 นาที ระดับความสว่างไม่น้อยกว่า 1 ลักซ์ วัดบริเวณกึ่งกลางของทางหนีไฟ แต่หากเป็นพื้นที่สำคัญควรมีความสว่างไม่น้อยกว่า 15 ลักซ์ และควรมีการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของระบบไฟฉุกเฉินอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ตลอดเวลา

 

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น